TPCH ฤกษ์ดี กดปุ่ม COD โรงไฟฟ้าประชารัฐฯ บันนังสตา 3.00 MWดันกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 119.30 MWรุกธุรกิจพลังงานทดแทนตปท. ดันผลงานโตก้าวกระโดด
บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) มาตามนัด! เสียบปลั๊กโรงไฟฟ้าประชารัฐฯ บันนังสตา (PBB) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3.00 เมกะวัตต์ จ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว หนุนกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งเชื้อเพลิงชีวมวล-ขยะ แตะ 119.30 เมกะวัตต์ พร้อมเดินหน้าลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ ทั้ง “สปป.ลาว-เวียดนาม-กัมพูชา" ลุยพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะภายในประเทศ เพิ่ม 1-2 โครงการ ตั้งเป้ากำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ ในปี 2568
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา (PBB) ที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ต.ถ้ำทะลุ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TPCH ได้เริ่มมีการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2.85 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตติดตั้ง 3.00 เมกะวัตต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา มีกำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตติดตั้ง 3.00 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแห่งที่ 12 ของบริษัทฯ จากเดิมที่มีโรงไฟฟ้ารวม 11 แห่ง กำลังการผลิตรวม 116.3 เมกะวัตต์ ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไปแล้ว ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2 รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) และจากการที่ได้ COD โรงไฟฟ้าฯ เพิ่มอีก 1 แห่ง ส่งผลให้ปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมอยู่ที่ 119.30 เมกะวัตต์” นางกนกทิพย์กล่าว
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า ในส่วนของโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน (PBM) กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ ขณะนี้ เริ่มทดสอบระบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถ COD ได้ภายในไตรมาส 2/2566
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทฯ เดินหน้าการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนไปในต่างประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เวียดนาม และกัมพูชา โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คาดว่า จะเห็นความชัดเจนสำหรับโครงการแรกในรูปแบบIPP ในเร็วๆ นี้
ส่วนแผนการลงทุนในประเทศ อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 5-7 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) ซึ่ง TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ คาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ ประมาณ 1-2 โครงการ โดยเป็นโครงการรูปแบบ VSPP ทั้งหมด จึงมั่นใจว่า ปัจจัยเหล่านี้ จะสามารถสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างได้ในระยะยาว
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 115 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 50 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมในต่างประเทศ 135 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568